คพ.เผยคุณภาพอากาศในกทม. ค่า PM2.5
ยังเกินมาตรฐาน 2แห่ง แต่ภาพรวมแนวโน้มลดลง
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ฉบับที่ 187/2562 วันที่ 27 กันยายน 2562
ลงในเว็บไซต์วันที่ 30 ก.ย. 62
-
นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า จากการติดตามตรวจสอบสถานการณ์คุณภาพอากาศประจำวันที่ 27 กันยายน 2562 พบว่าพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ตรวจวัดได้ระหว่าง 25-52 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) โดยค่า PM2.5 เกินเกณฑ์มาตรฐาน 2 พื้นที่ (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) คือบริเวณเขตภาษีเจริญ มีค่า 52 มคก./ลบ.ม. และเขตบางพลัด มีค่า 51 มคก./ลบ.ม. โดยทั้ง 2 แห่ง คุณภาพอากาศอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ แต่มีแนวโน้มลดลงจากวันก่อนหน้า เนื่องจากยังคงได้รับอิทธิพลจากความกดอากาศที่ปกคลุมประเทศไทย แต่เริ่มมีกำลังอ่อนลง ทั้งนี้ คาดว่าลักษณะเช่นนี้จะมีจนถึงวันที่ 28 กันยายน 2562 จึงขอความร่วมมือประชาชน "งดเผาในที่โล่งทุกชนิด" รวมทั้ง "บำรุงดูแลรักษาเครื่องยนต์ไม่ให้เกิดควันดำ"
-
นายประลอง กล่าวว่า คพ. จะติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่นละอองอย่างใกล้ชิดและซักซ้อมแผนการจัดการเชิงพื้นที่ในช่วงวิกฤตตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ "การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง" ตามนโยบาย "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม" (นายวราวุธ ศิลปอาชา) โดยในวันที่ 2 และ 3 ตุลาคม 2562 นี้ คพ. กำหนดให้มีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อซักซ้อมแผนการตอบโต้สถานการณ์เพื่อเตรียมพร้อมรับมือหากสถานการณ์เข้าสู่ช่วงวิกฤต
-
นายประลอง กล่าวอีกว่า สำหรับคุณภาพอากาศในพื้นที่อื่นๆ ได้แก่ พื้นที่ตำบลหน้าพระลาน จ.สระบุรี พบปริมาณฝุ่นละออง PM10 ตรวจวัดได้ที่ 137 มคก./ลบ.ม. มีค่าเกินมาตรฐาน (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 120 มคก./ลบ.ม.) อยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ สาเหตุเกิดจากมีฝุ่นสะสม เนื่องจากมีการประกอบกิจการโม่ บด ย่อยหิน เหมืองหิน โรงงานปูนซิเมนต์ และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง รวมถึงการบรรทุกขนส่งหินตลอดวัน
-
สำหรับพื้นที่ภาคใต้ พบปริมาณฝุ่นละออง PM10 มีค่าระหว่าง 20-35 มคก./ลบ.ม. และ PM2.5 มีค่าระหว่าง มีค่าระหว่าง 8-20 มคก./ลบ.ม. ซึ่งมีแนวโน้มลดลงจากวันก่อนหน้า คุณภาพอากาศอยู่ในระดับดีมาก เนื่องจากทิศทางลมเปลี่ยนแปลง ประกอบกับสถานการณ์จุดความร้อนในภูมิภาคอาเซียนตอนล่างมีแนวโน้มลดลง ทำให้ปัญหาฝุ่นละอองในพื้นที่บรรเทาลง ทั้งนี้เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัวที่อยู่อาศัยในบริเวณที่ ฝุ่นละอองเกินมาตรฐานข้างต้น ควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง หากจำเป็นต้องออก นอกบ้านควรสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก
-
-