สทนช.ลุยแผนพัฒนาลุ่มน้ำยมตอนบน ชูแม่คำปองต้นแบบใช้ศาสตร์พระราชาแก้ปัญหา


สทนช.ลุยแผนพัฒนาลุ่มน้ำยมตอนบน ชูแม่คำปองต้นแบบใช้ศาสตร์พระราชาแก้ปัญหา

11 ตุลาคม 2562 

 

ที่มา: https://www.naewna.com/local/446433

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่าพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนบนมีฝนและปริมาณน้ำท่าค่อนข้างมาก ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมช่วงฤดูน้ำหลาก ประกอบกับไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำเพียงพอก่อให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำตามมาช่วงฤดูแล้ง จากการลงพื้นที่พบมีลำน้ำสาขาของแม่น้ำยมหลายแห่งพัฒนาให้เป็นอ่างเก็บน้ำ หรือสร้างประปาภูเขาได้ ผนวกกับการรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มผู้นำชุมชนในพื้นที่ พบแนวทางที่ตอบโจทย์แก้ปัญหาดังกล่าวให้คนในพื้นที่ได้ ทั้งนี้มีชุมชนหลายแห่งบริเวณลุ่มน้ำยมตอนบนที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาเดือดร้อนด้วย“ศาสตร์พระราชา” โดยน้อมนำพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 เข้ามาประยุกต์ใช้แก้ปัญหา ซึ่งจากนี้สทนช.จะได้รวบรวมวิธีแก้ไข แนวทางป้องกันปัญหา ที่นำไปสู่แผนปฏิบัติการเพื่อประโยชน์ของลุ่มน้ำยมตอนบนโดยตรงต่อไป โดยกำหนดทำแผนปฏิบัติการให้แล้วเสร็จภายปี 2562 “โครงการอ่างเก็บน้ำแม่คำปอง บ้านบุญแจ่ม ตำบลน้ำเลา อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ เป็นต้นแบบพัฒนาลุ่มน้ำยมตอนบนในปี 2535 ความจุ 6.76 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ช่วยให้เก็บน้ำได้ แต่ยังเกิดปัญหาน้ำและโคลนไหลลงอ่างฯมาก หน้าแล้งไม่มีน้ำเช่นเคย ชาวบ้านบุญแจ่ม จึงเริ่มเข้าไปดูงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 ได้เห็นความสำเร็จ จากนั้นเริ่มต้นศึกษาศาสตร์วิชาของในหลวง รวมตัวกันตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูป่า เริ่มปลูกป่า รณรงค์ไม่ให้เผาหรือทำลายป่า การทำฝายแม้วตามต้นน้ำ เพื่อช่วยชะลอกระแสน้ำและช่วยให้ป่าซับน้ำสร้างความชุ่มชื้นให้พื้นป่า เกิดเป็นจุดแข็งคือ มีแหล่งเก็บน้ำและอนุรักษ์ปลูกป่าควบคู่กันไป” และว่าหลัง 3-4 ปีผ่านไป เริ่มเก็บน้ำในอ่างฯได้มากขึ้น แม้เป็นฤดูแล้ง ชาวบ้านเริ่มเห็นประโยชน์ เกิดกลุ่มและกองทุนที่เข้มแข็ง เพื่อให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพหลายกลุ่ม อาทิ กลุ่มศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบ กลุ่มออมทรัพย์ธนาคารต้นไม้ กองทุนป่าชุมชนบ้านบุญแจ่ม กองทุนอนุรักษ์อ่างแม่คำปอง กลุ่มออมทรัพย์เกษตรอินทรีย์ หรือที่ห้วยสามขา จังหวัดลำปาง มีการรวมกลุ่มเพื่ออนุรักษ์ป่าที่ประสบความสำเร็จและเข้มแข็งมาก จังหวัดเชียงราย มีโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ เหล่านี้เป็นการนำศาสตร์ของพระราชาไปใช้ ซึ่งอยู่ในแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ของสทนช. ด้วยเช่นกัน นายจิรพัฒน์ แจ่มรัตนโสภิณ ผู้ใหญ่บ้านบ้านบุญแจ่ม เปิดเผยว่าบ้านบุญแจ่ม มีพื้นที่รวม 2.65 หมื่นไร่ มีพื้นที่ป่า 1.5 หมื่นไร่ตั้งแต่เรียนรู้รักษาป่า บวชป่า ไม่ตัดไม้ ราษฎรได้ป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์เป็นลำดับต้นๆของจังหวัด เป็นแหล่งน้ำและอาหารชั้นดีให้ราษฎร มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างแม่คำปองปีละกว่า 18 ล้านลบ.ม.ทุกปี ทำให้เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมท้องถิ่นขับเคลื่อนไปได้ด้วยดี เลขาฯสทนช.กล่าวปิดท้ายว่า ตัวอย่างผลสำเร็จยั่งยืนที่เราเรียนรู้ชัดเจนอย่างหนึ่งคือ การให้ชุมชนในพื้นที่มีส่วนร่วมบริหารจัดการ ซึ่งสทนช.จะนำเข้ามาผนวกกับการหาแหล่งเก็บน้ำ เพื่อพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนบนที่ยังดำเนินต่อไปตามแนวพระราชดำรัสของในหลวง ร.9 และตามโครงการพระราชดำริอีกหลายโครงการที่รอขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม เช่น อนุมัติสร้างอ่างเก็บน้ำที่มีความจุเก็บกักน้อยกว่า 2 ล้านลบ.ม.ให้ท้องถิ่นใช้งบประมาณของตนทำได้เลย นอกจากช่วยเปิดพื้นที่เก็บน้ำแล้ว ยังเปิดพื้นที่หน่วงน้ำไม่ให้ไหลลงมากระทบลุ่มน้ำตอนล่างมากเกินไป